Zimmerwald Conference (-)

การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ (-)

การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์เป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกของนักสังคมนิยมและผู้แทนพรรคสังคมนิยมที่ต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ระหว่างวันที่ ๕–๘ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๕ ที่หมู่บ้านซิมเมอร์วัลด์ สวิตเซอร์แลนด์ ผู้เข้าประชุม ๓๘ คนจาก ๑๑ ประเทศในยุโรปมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ออก “แถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์” (Zimmerwald Manifesto) โจมตีประเทศจักรวรรดินิยมที่เป็นต้นเหตุของสงครามและพรรคสังคมนิยมในประเทศต่าง ๆ ที่สนับสนุนสงคราม ทั้งให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการสังคมนิยมระหว่างประเทศ(International Socialist Commission–ISC) ขึ้นโดยมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเบิร์น การประชุมนี้นับเป็นความพยายามครั้งแรกของฝ่ายสังคมนิยมที่เป็นกลางและใฝ่สันติภาพในการจะผนึกกำลังกันต่อต้านสงครามและเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของขบวนการสังคมนิยมในยุโรปเพราะทำให้การเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามในประเทศต่าง ๆ ก่อตัวและมีพลังเข้มแข็งขึ้นในเดือนกันยายนมีการจัดประชุมระหว่างประเทศของนักสังคมนิยมครั้งที่ ๒ หรือการประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ครั้งที่ ๒ (Second Zimmerwald Conference) ระหว่างวันที่ ๒๔–๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๖ ที่เมืองคีนทาล (Kienthal) สวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๗ คณะกรรมาธิการสังคมนิยมระหว่างประเทศย้ายที่ทำการไปที่กรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm) สวีเดนและจัดการประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ครั้งที่ ๓ (Third Zimmerwald Conference) ขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์มระหว่างวันที่ ๕–๑๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๗ การประชุมซิมเมอร์วัลด์ครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ เรียกรวมกันว่าขบวนการซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald Movement)

 การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์เป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางความคิดของกลุ่มสังคมนิยมและพรรคสังคมนิยมในประเทศต่าง ๆ ในประเด็นการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party–SPD)* ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพรรคลัทธิมากซ์ต้นแบบของขบวนการสังคมนิยมสนับสนุนรัฐบาลเยอรมันในการทำสงครามด้วยเหตุผลว่าจำเป็นต้องปกป้องปิตุภูมิจากการรุกรานของทรราชรัสเซีย พรรคสังคมนิยมและสหภาพแรงงานในประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็สนับสนุนการทำสงครามของรัฐบาลในประเทศตนด้วย มีเพียงพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Labour’s Party–RSDLP)* พรรคสังคมนิยมเซอร์เบีย และกลุ่มสังคมนิยมจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ต่อต้านสงคราม วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียวิพากษ์โจมตีพรรคสังคมนิยมและสหภาพแรงงานที่สนับสนุนสงครามว่าเป็นพวก “ลัทธิสังคมนิยมคลั่งชาติ” (Socialist Chauvinism)ที่สลัดเสื้อคลุมลัทธิมากซ์ทิ้งโดยสวมวิญญาณของนักชาตินิยมชนชั้นนายทุนความแตกแยกของขบวนการสังคมนิยมไม่เพียงทำให้องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)* ต้องยุบเลิกลงในเวลาต่อมาเท่านั้น แต่ยังทำให้แนวความคิดลัทธิมากซ์หมดอิทธิพลและความสำคัญลงด้วยจนดูเหมือนว่าลัทธิชาตินิยมกำลังมีชัยชนะ

 ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ อีเนสซา อาร์มันด์ (Inessa Armand)* และอะเล็กซานดรา คอลลอนไต (Aleksandra Kollontay)* แกนนำฝ่ายงานสตรีของพรรคบอลเชวิคได้ร่วมมือกับคลารา เซทคิน (Clara Zetkin)* ผู้นำสตรีพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยเยอรมันจัดการประชุมสตรีชาวสังคมนิยมระหว่างประเทศขึ้นที่กรุงเบิร์นเพื่อคัดค้านสงครามและเรียกร้องการสร้างสันติภาพระหว่างประเทศ แม้จะเป็นการประชุมปิดและมีผู้เข้าร่วมเพียง ๒๙ คน แต่การประชุมครั้งนี้ก็เป็นการเริ่มต้นของกลุ่มสังคมนิยมที่เป็นกลางและใฝ่สันติในการแสดงออกคัดค้านสงคราม ในเดือนต่อมากลุ่มเยาวชนสังคมนิยมสวิส เยาวชนสังคมนิยมอิตาลี และเยาวชนสังคมนิยมแห่งชตุทท์การ์ท (Stuttgart) ก็ร่วมมือกันจัดการประชุมเพื่อต้านสงครามและลัทธิทหารนิยมที่กรุงเบิร์น ในการประชุมครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันกับการประชุมสตรีชาวสังคมนิยมระหว่างประเทศ ผู้แทนบอลเชวิคที่เข้าร่วมประชุมเรียกร้องให้ผลักดันการเปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมให้เป็นสงครามกลางเมืองและหาโอกาสก่อการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลที่ดำรงอยู่ แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก อย่างไรก็ตาม ผลสำคัญของการประชุมทั้ง ๒ ครั้งได้สร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มการเมืองสายกลางที่ต้องการสันติภาพเห็นความสำคัญของการจัดการประชุมระหว่างประเทศเพื่อผนึกพลังในการต่อต้านสงครามและเรียกร้องสันติภาพ

 ในกลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ พรรคสังคมนิยมอิตาลี (Italian Socialist Party) ซึ่งก่อนหน้านั้นได้หารือกับพรรคสังคมนิยมเบลเยียมและพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสเกี่ยวกับการจัดประชุมระหว่างประเทศของนักสังคมนิยมสายกลาง ตัดสินใจที่จะจัดการประชุมของพรรคสังคมนิยมต่างๆ รวมทั้งกลุ่มกรรมกรที่ยึดมั่นในหลักการการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อต่อต้านสงครามมีการกำหนดการประชุมเพื่อเตรียมงานที่กรุงเบิร์นและสร้างพลังในการเคลื่อนไหวในวันที่ ๑๑ กรกฎาคมในการประชุมเตรียมงานนั้น ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่เป็นผู้แทนคนสำคัญของคณะกรรมกลางพรรคสังคมนิยมจากประเทศต่าง ๆ เช่น กรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* และปาเวล อัคเซลรอด (Pavel Akselrod)* จากรัสเซีย แอนเจลีกา บาลาบานอฟฟ์ (Angelica Balabanoff) และออดดีโน มอร์การี (Oddino Morgari) จากอิตาลี และอื่น ๆ ที่ประชุมเห็นชอบให้เชิญชวนนักสังคมนิยมจากประเทศต่าง ๆเข้าร่วมการประชุมให้มากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางความคิด และกำหนดการประชุมเป็นวันที่ ๕–๘ กันยายน เนื้อหาการประชุมจะพิจารณาเรื่องการกำหนดท่าทีและแนวทางการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานยุโรปต่อสงครามจักรวรรดินิยม

 ในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๕ การประชุมระหว่างประเทศของนักสังคมนิยมครั้งที่ ๑ (First Socialist International Conference) ซึ่งเป็นการประชุมลับมีขึ้นระหว่างวันที่ ๕–๘ กันยายนที่หมู่บ้านซิมเมอร์วัลด์ บริเวณเทือกเขาที่ห่างจากกรุงเบิร์น ๙ กิโลเมตร วัตถุประสงค์สำคัญของการประชุมคือการผนึกกำลังของผู้แทนพรรคสังคมนิยมยุโรปในการต่อสู้เพื่อสันติภาพและแสดงความเป็นปึกแผ่นทางความคิดในการต่อต้านสงครามตลอดจนการสร้างสันติภาพที่ปราศจากการยึดครองดินแดนและการเรียกค่าปฏิกรรมสงคราม ผู้เข้าประชุม ๓๘ คนจาก ๑๑ ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นนักสังคมนิยมยุโรปสายกลางในจำนวนดังกล่าว ๘ คนซึ่งมีเลนินเป็นผู้นำได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มซ้ายซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald Left) เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวเรียกร้องให้นักปฏิวัติและกรรมกรประเทศต่าง ๆ เคลื่อนไหวเปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมของประเทศนายทุนให้เป็นสงครามกลางเมืองและการหาโอกาสลุกฮือด้วยอาวุธเพื่อยึดอำนาจทางการเมือง รวมทั้งการผลักดันเรื่องการจะจัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* ขึ้นแทนที่สากลที่ ๒ แต่แนวทางของกลุ่มเลนินไม่เป็นที่ยอมรับของที่ประชุม

 การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์เริ่มด้วยการอ่านคำประกาศและจดหมายเปิดผนึกจากพรรคสังคมนิยมยุโรปและองค์การกรรมกรในประเทศต่าง ๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยเนื่องจากรัฐบาลไม่ออกหนังสือเดินทางให้ และบ้างถูกจับคุมขัง หลังการอ่านคำประกาศและจดหมายเปิดผนึก ผู้แทนของพรรคสังคมนิยมหรือสหภาพแรงงานที่เข้าร่วมจากประเทศต่าง ๆ ได้รายงานสรุปวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศของตน รวมทั้งบทบาทของนักสังคมนิยมและกรรมกรต่อสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ จากนั้นที่ประชุมได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสงครามและการจะกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวคัดค้านสงคราม ทั้งเห็นชอบให้ออกแถลงการณ์ในนามของที่ประชุม มีการร่างแถลงการณ์เพื่อพิจารณารวม ๓ ฉบับ และท้ายที่สุดที่ประชุมเลือกร่างแถลงการณ์ของกลุ่มสังคมนิยมสายกลางที่เลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* เป็นผู้ร่างและให้เขาปรับแก้ไขเนื้อหาให้สอดคล้องกับมติที่ประชุม

 แถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์มีสาระสำคัญคือการวิพากษ์โจมตีประเทศทุนนิยมที่เป็นต้นเหตุของสงครามและประณามพรรคสังคมนิยมในประเทศต่าง ๆ ที่เบี่ยงเบนการต่อสู้ปฏิวัติตามแนวทางลัทธิมากซ์ด้วยการสนับสนุนนโยบายสงครามของรัฐบาลประเทศตนแถลงการณ์เรียกร้องให้กรรมกรประเทศต่างๆสามัคคีกันและยืนหยัดต่อสู้เพื่อสันติภาพและต่อต้านสงครามตลอดจนให้ยึดหลักการการกำหนดการปกครองตนเองของประชาชนในการยุติสงครามที่ไม่มีทั้งการยึดครองดินแดนและค่าปฏิกรรมสงคราม แม้กลุ่มของเลนินจะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาแถลงการณ์มากนัก แต่ก็ยอมรับเพราะเห็นว่าแถลงการณ์มีนัยถึงการแตกหักทางอุดมการณ์และแนวทางการปฏิบัติต่อกลุ่มสังคมนิยมที่ฉวยโอกาสและกลุ่มสังคมนิยมที่คลั่งชาติ นอกจากการออกแถลงการณ์แล้วที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการสังคมนิยมระหว่างประเทศเพื่อเป็นสำนักงานเลขาธิการชั่วคราวที่กรุงเบิร์น โดยทำหน้าที่ประสานงานติดต่อกับกลุ่มและองค์การต่าง ๆ ทั้งให้จัดพิมพ์จุลสารชื่อ Bulletin เผยแพร่แถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์และรายงานการประชุม รวมทั้งข่าวสารต่างๆ อย่างไรก็ตามหลังการประชุมสิ้นสุดลงกลุ่มซ้ายซิมเมอร์วัลด์ก็ออกแถลงการณ์ของกลุ่มอีกฉบับโดยเฉพาะเพื่อชี้นำแนวทางการเคลื่อนไหวต่อสู้ในครั้งต่อไปและเน้นประเด็นการเปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมให้เป็นสงครามกลางเมืองและการผลักดันการจัดตั้งสากลที่ ๓

 การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์นับเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของขบวนการสังคมนิยมยุโรปเพราะมีส่วนทำให้กรรมกรในประเทศต่าง ๆ รับรู้ว่าฝ่ายสังคมนิยมแนวทางลัทธิมากซ์ได้เคลื่อนไหวต่อต้านสงครามในระดับนานาชาติ และนับเป็นการเริ่มต้นของการเติบโตของขบวนการต่อต้านสงครามระหว่างประเทศ สื่อสิ่งพิมพ์สังคมนิยมทั่วยุโรปนำเสนอข่าวการประชุมลับครั้งนี้อย่างละเอียดและกล่าวว่าซิมเมอร์วัลด์ได้กอบกู้ชื่อของฝ่ายสังคมนิยมยุโรปไว้ได้ข่าวการประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์มีส่วนทำให้กลุ่มสังคมนิยมที่ต้องการสันติภาพและขบวนการต่อต้านสงครามในประเทศต่าง ๆ เริ่มเคลื่อนไหวสนับสนุนแนวทางของซิมเมอร์วัลด์ ในฝรั่งเศสกลุ่มสมาชิกรัฐสภาหัวรุนแรงได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Committee for Restoration of International) ขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ยุติสงคราม ในรัสเซียกลุ่มกรรมกรในย่านอุตสาหกรรมก็เคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ ในเยอรมนีกลุ่มปีกซ้ายของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันที่มีคาร์ล ลีบเนชท์ (Karl Liebknecht)* เป็นผู้นำก็ขยายงานด้านกิจกรรมการโฆษณาต่อต้านสงครามมากขึ้น ในออสเตรีย สโมสร คาร์ลมากซ์ (Karl Marx Club) ในกรุงเวียนนาซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่สังกัดพรรคสังคมนิยมออสเตรียก็รณรงค์ต่อต้านสงครามและอื่น ๆ กระแสการต่อต้านสงครามที่เริ่มก่อตัวขึ้นในประเทศต่าง ๆ ได้ทำให้การชุมนุมประท้วงต่อต้านสงครามและรัฐบาลขยายตัวกว้างขึ้นทั้งจำนวนผู้เข้าร่วมประท้วงก็มีมากขึ้น ในเยอรมนีมีการชุมนุมประท้วง ๑๓๗ ครั้ง ในที่ต่าง ๆ มีประชาชนเข้าร่วม ๑๔,๐๐๐ คน ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ เพิ่มเป็น ๒๔๐ ครั้ง และมีผู้เข้าร่วม ๑๒๙,๐๐๐ คน ในฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๑๕ การชุมนุมประท้วง ๙๘ ครั้ง ที่มีผู้เข้าร่วม ๙,๐๐๐ คน เพิ่มเป็น ๓๑๔ ครั้ง ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ และมีผู้เข้าร่วม ๔๑,๐๐๐ คน ในรัสเซียมีการประท้วง ๙๒๘ ครั้ง และผู้เข้าร่วมชุมนุม ๕๓๙,๐๐๐ คน ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ เพิ่มเป็น ๑,๔๑๐ ครั้ง และจำนวนผู้ชุมนุมรวม ๑,๐๘๖,๐๐๐ คน ใน ค.ศ. ๑๙๑๖

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ คณะกรรมาธิการสังคมนิยมระหว่างประเทศจัดการประชุมระหว่างประเทศของนักสังคมนิยมครั้งที่ ๒ หรือที่เรียกว่าการประชุมซิมเมอวัลด์ครั้งที่ ๒ ที่หมู่บ้านคีนทาลบริเวณเชิงเขาบลึมลิสแอลป์ (Bluemlisalp) สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒๔–๓๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๑๖ เพื่อพิจารณาแนวทางการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามที่ยังคงดำเนินอยู่ มีผู้เข้าประชุม ๔๓ คนจาก ๑๖ ประเทศ ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์คีนทาล (Kienthal Manifesto) เรียกร้องให้ผู้แทนพรรคสังคมนิยมในประเทศยุโรปต่างๆรวมทั้งสหภาพแรงงานประณามนโยบายสงครามและคัดค้านการเพิ่มงบประมาณทางทหารและการเกณฑ์กำลังคนเข้าสู่สงคราม ทั้งให้กรรมกรประเทศต่าง ๆผนึกกำลังร่วมมือกันเคลื่อนไหวทุกรูปแบบเพื่อยุติสงครามและการเข่นฆ่าประชาชน ที่ประชุมชี้นำว่าวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันการเกิดสงครามครั้งต่อไปคือการที่ชนชั้นกรรมาชีพต้องยึดอำนาจทางการเมืองและล้มเลิกระบอบทุนนิยม การชี้นำดังกล่าวมีนัยเรียกร้องให้มวลชนก่อการปฏิวัติขึ้นนอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้ออกประกาศแสดงความเสียใจต่อเหล่า “สหายที่ถูกกวาดล้าง” ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งพวกเขาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อต่อต้านสงคราม

 ในการประชุมครั้งนี้ อาร์มันด์ สหายสตรีที่ใกล้ชิดเลนินและรับผิดชอบด้านการต่างประเทศสามารถโน้มน้าวที่ประชุมให้สนับสนุนแนวความคิดของเลนินเรื่องยุทธศาสตร์ยุทธวิธีต่อต้านสงครามจักรวรรดินิยมด้วยการเปลี่ยนสงครามที่ดำรงอยู่ให้เป็นสงครามกลางเมืองและช่วงชิงอำนาจการเป็นผู้นำจากรัฐบาลแม้ความคิดของเลนินจะมีคนเห็นด้วยมากขึ้น แต่ที่ประชุมก็ยังคงมีมติให้ยึดหลักการของการประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ครั้งแรกเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไรก็ตาม แนวความคิดเรื่องการจัดตั้งสากลที่ ๓ ของเลนินก็เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นและที่ประชุมมีมติให้หาแนวทางการดำเนินงานเพื่อเตรียมก่อตั้งสากลที่ ๓ ต่อไป บทบาทของกลุ่มสังคมนิยมในการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามมีส่วนทำให้ในเวลาต่อมาเยอรมนีได้ความคิดที่จะใช้พวกสังคมนิยมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับฝ่ายศัตรู เยอรมนีจึงสนับสนุนกลุ่มนักสังคมนิยมปีกซ้ายที่มีเลนินเป็นผู้นำและสหายร่วมอุดมการณ์อีก ๑๗ คน ให้กลับมาเคลื่อนไหวในรัสเซียภายหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ในรัสเซีย

 การล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* และการเข้าสู่สงครามของสหรัฐอเมริกาพร้อมกับแนวความคิดการจะยุติสงครามเพื่อประชาธิปไตยด้วยการเสนอแนวทางการสร้างสันติภาพของหลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)* รวมทั้งกระแสความเบื่อหน่ายและความต้องการจะถอนตัวออกจากสงครามของพลเมืองประเทศต่าง ๆ มีส่วนทำให้กลุ่มสังคมนิยมยุโรปเห็นความจำเป็นที่จะจัดการประชุมระหว่างประเทศขึ้นเพื่อประเมินสถานการณ์สงครามและกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คณะกรรมาธิการสังคมนิยมระหว่างประเทศจึงจัดการประชุมขึ้นที่กรุงสตอกโฮลม์ระหว่างวันที่ ๕–๑๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๗ การประชุมครั้งนี้นับได้ว่าเป็นการประชุมระหว่างประเทศของนักสังคมนิยมครั้งสุดท้ายในการต่อต้านสงครามและเรียกกันทั่วไปว่า การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ครั้งที่ ๓ มีผู้เข้าประชุมกว่า ๓๕ คนจาก ๑๖ ประเทศ ที่ประชุมได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องแนวทางการสร้างสันติภาพของรัฐบาลประเทศทุนนิยม และเห็นว่าแม้จะตกลงเรื่องการสร้างสันติภาพได้สำเร็จ แต่สงครามครั้งใหม่ก็ได้ถูกบ่มเพาะไว้แล้ว และกรรมกรก็ต้องแบกรับหนี้สงครามอีก จิตสำนึกทางชนชั้นจะถดถอยลง ทั้งทำให้การต่อสู้เพื่อสังคมนิยมใช้เวลายาวนานมากขึ้นอีก ที่ประชุมจึงมีมติให้จัดทำแถลงการณ์ประณามแนวทางการดำเนินงานสร้างสันติภาพของรัฐบาลทุนนิยมและคัดค้าน “สันติภาพของพวกนายทุน” ซึ่งจะทำให้ชนชั้นแรงงานต้องแบกรับภาระหนี้สินอย่างหนักและสิทธิเสรีภาพถูกลิดรอนในขณะที่รัฐทุนนิยมเข้มแข็งขึ้น “สันติภาพที่แท้จริง” คือสันติภาพที่ได้มาจากการต่อสู้ของมวลชนชนชั้นแรงงานในการสร้างสาธารณรัฐสังคมนิยมขึ้น “สันติภาพสังคมนิยม” คือการที่ชนชั้นกรรมาชีพทุกประเทศผนึกกำลังทางสากลเป็น “ปฏิบัติการมวลชน” ที่จะนำไปสู่ “การปลดปล่อยมนุษยชาติครั้งสุดท้าย”

 อย่างไรก็ตาม ด้วยเนื้อหาที่ปลุกระดมชี้นำการก่อการปฏิวัติและมีนัยถึงการสนับสนุนสภาโซเวียตที่กำลังก่อการปฏิวัติขึ้นในรัสเซีย ที่ประชุมจึงมีมติไม่ให้เผยแพร่แถลงการณ์ดังกล่าวจนกว่าพรรคสังคมนิยมต่าง ๆ จะเข้าร่วมกับมวลชนในการลุกฮือขึ้นสู้ การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ครั้งที่ ๓ มีอิทธิพลทางความคิดต่อขบวนการสังคมนิยมไม่มากนัก เพราะในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันไม่นานนัก พรรคบอลเชวิคก็ยึดอำนาจทางการเมืองในรัสเซียได้ในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution ค.ศ. ๑๙๑๗)* จากนั้นไม่กี่วันแถลงการณ์ของการประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ครั้งที่ ๓ ก็ได้รับการพิมพ์เผยแพร่ ชัยชนะของการปฏิวัติรัสเซียก็ทำให้รัสเซียเป็นต้นแบบของการปฏิวัติและการเคลื่อนไหวปฏิวัติในยุโรปก็ตามรอยการปฏิวัติรัสเซียเพียงแห่งเดียว

 ใน ค.ศ. ๒๐๑๕ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ของการประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ กลุ่มแนวโน้มมาร์กซิสต์สากลหรือไอเอ็มที (International Marxist Tendency–IMT) ได้จัดประชุมสรุปบทเรียนของซิมเมอร์วัลด์ที่กรุงลอนดอน กลุ่มดังกล่าวแยกตัวออกมาจากสมาคมระหว่างประเทศของผู้นิยมตรอตสกี (International Association of Trotskyist) หรือบางครั้งเรียกชื่อว่า คณะกรรมาธิการแห่งกรรมกรระหว่างประเทศ (Committee for a Workers’ International–CWI) ที่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๗๔ และมีแนวนโยบายสืบสานอุดมการณ์ขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๔ (Fourth International)* กลุ่มแนวโน้มมาร์กซิสต์สากลซึ่งมีเครือข่ายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า ๓๕ ประเทศเป็นกลุ่มนิยมตรอตสกีสายกลางที่รณรงค์แนวทางการต่อสู้ปฏิวัติสังคมนิยมตามแนวทางลัทธิมากซ์ และเผยแพร่งานเขียนต่าง ๆ ของตรอตสกีและการกอบกู้ชื่อเสียงของเขา บทเรียนของซิมเมอร์วัลด์ที่เป็นผลจากการประชุมมีสาระสำคัญสรุปได้คือ ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ ลัทธิมากซ์อ่อนพลังและแทบหมดอิทธิพลและความสำคัญในหมู่กรรมกร แต่การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์คือการต้านกระแสชาตินิยมเพื่อให้ลัทธิมากซ์กลับมามีบทบาทและความสำคัญจนกระแสการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมที่อ่อนแรงกลับมีพลังและเข้มแข็งทางการเมืองอีกครั้ง ในสภาวการณ์ทางการเมืองที่ดำรงอยู่ปัจจุบัน แม้สากลที่ ๓ จะถูกลัทธิสตาลินทำลายและชัยชนะของการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ถูกบิดเบือนและนำสหภาพโซเวียตไปสู่หุบเหวแห่งความหายนะจนลัทธิคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียตสิ้นสลาย ซึ่งเป็นจุดจบของลัทธิสังคมนิยมและประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างลัทธิทุนนิยมกับสังคมนิยม แต่ประวัติศาสตร์ลัทธิสังคมนิยมไม่ได้จบสิ้นลงง่าย ๆ การก่อตัวของลัทธิสังคมนิยมในทศวรรษ ๑๙๙๐ และการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงรวมทั้งเยาวชนรุ่นใหม่ที่กำลังแสวงหาความหมายของการปฏิวัติและเส้นทางการต่อสู้แนวทางปฏิวัติใหม่การเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวโน้มมาร์กซิสต์สากลนับเป็นการเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวครั้งใหม่ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักและยอมรับกันมากขึ้นในทางการเมืองระหว่างประเทศและนั่นคือบทเรียนที่สืบสานจากการประชุมซิมเมอร์วัลด์ ค.ศ. ๑๙๑๕.



คำตั้ง
Zimmerwald Conference
คำเทียบ
การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์
คำสำคัญ
- กลุ่มซ้ายซิมเมอร์วัลด์
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติรัสเซีย
- การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์
- การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ครั้งที่ ๒
- การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ครั้งที่ ๓
- การประชุมระหว่างประเทศของนักสังคมนิยมครั้งที่ ๑
- ขบวนการซิมเมอร์วัลด์
- คอลลอนไต, อะเล็กซานดรา
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี
- เซทคิน, คลารา
- ตรอตสกี, เลออน
- แถลงการณ์คีนทาล
- แถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์
- บอลเชวิค
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย
- พรรคสังคมนิยมอิตาลี
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- ลัทธิมากซ์
- ลัทธิสตาลิน
- ลีบเนชท์, คาร์ล
- เลนิน, วลาดีมีร์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพแรงงาน
- สากลที่ ๓
- หลักการ ๑๔ ข้อ
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๔
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๔
- อัคเซลรอด, ปาเวล
- อาร์มันด์, อีเนสซา
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-